ความเป็นมาของโครงการ
กรุงเทพมหานครมีการวางแผนและดำเนินการแก้ไขปัญหาความเน่าเสียของน้ำในคูคลองและแม่น้ำอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบันมีระบบบำบัดน้ำเสียขนาดใหญ่ซึ่งเปิดดำเนินการแล้ว 8 แห่ง มีขีดความสามารถในการบำบัดน้ำเสียรวม 1,112,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน คิดเป็นประมาณ ร้อยละ 45 ของปริมาณน้ำเสียที่เกิดขึ้นในกรุงเทพมหานครทั้งหมด และยังมีโครงการก่อสร้างระบบบำบัดน้ำเสียรวมขนาดใหญ่ที่กำลังอยู่ระหว่างดำเนินการอีก 4 โครงการ ได้แก่ โครงการบำบัดน้ำเสียมีนบุรี ระยะที่ 1 และ 2 บึงหนองบอน คลองเตย และธนบุรี ซึ่งเมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จจะสามารถบำบัดน้ำเสียเพิ่มขึ้นอีก 707,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน รวมขีดความสามารถทั้งหมด 1,819,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน คิดเป็นประมาณร้อยละ 70 ของปริมาณน้ำเสียที่เกิดขึ้นในกรุงเทพมหานคร
กรุงเทพมหานครได้ว่าจ้างที่ปรึกษา เพื่อศึกษาความเหมาะสมและออกแบบรายละเอียดระบบรวบรวมน้ำเสียและระบบบำบัดน้ำเสียธนบุรี พร้อมออกแบบสวนสาธารณะในพื้นที่ก่อสร้างระบบบำบัดน้ำเสียเพื่อใช้ประโยชน์ร่วมกัน บริเวณริมคลองวัดไชยทิศ เขตบางกอกน้อย ขนาดพื้นที่ 5 ไร่ 3 งาน 54 ตารางวา แล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2562 ผลการศึกษาเสนอแนะให้มีการก่อสร้างระบบบำบัดน้ำเสีย ขนาดบำบัดน้ำเสีย 160,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน ครอบคลุมพื้นที่บริการ 36.44 ตารางกิโลเมตร และสามารถแก้ไขปัญหาน้ำเน่าเสีย ตลอดจนฟื้นฟูคุณภาพน้ำในคลองบางกอกน้อย คลองชักพระ คลองบางขุนนนท์ คลองมอญ คลองบางบำหรุ และแม่น้ำเจ้าพระยาให้ดีขึ้น
โครงการระบบรวมรวมและบำบัดน้ำเสียธนบุรีแบ่งออกเป็น 3 สัญญา ได้แก่
- สัญญาที่ 1 งานก่อสร้างระบบบำบัดน้ำเสียธนบุรีและสวนสาธารณะ
- สัญญาที่ 2 งานก่อสร้างระบบรวบรวมน้ำเสียพื้นที่ส่วนเหนือ (เขตบางพลัด และบางส่วนของเขตตลิ่งชันและเขตบางกอกน้อย)
ครอบคลุมพื้นที่ 22.32 ตารางกิโลเมตร (61.25 %)
- สัญญาที่ 3 งานก่อสร้างระบบรวบรวมน้ำเสียพื้นที่ส่วนใต้ (เขตบางกอกน้อยและเขตบางกอกใหญ่) ครอบคลุมพื้นที่
14.12 ตารางกิโลเมตร (38.75 %)